Tuesday, February 12, 2013

การเดินทางของชีวิตและความตายในงานของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร




ระหว่างเดินทางกลับบ้านในเย็นวันนี้  ก็ได้เหลือบไปเห็นป้ายนิทรรศการงานศิลปะหน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ออฟฟิศเพียงคลองรอบกรุงกั้น  เมื่อเห็นชื่อนิทรรศการและศิลปินจึงไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนเส้นทางจากการกลับบ้านเป็นการเลี้ยวเข้าไปในหอศิลป์

นิทรรศการในวันนี้ชื่อ L’art de Marsi หรือ งานศิลปะของมารศี  ศิลปินเจ้าของผลงานคือหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร  เหตุผลสองประการที่ทำให้ฉันตัดสินใจเดินเข้าไปดูงานจัดแสดงครั้งคือ หนึ่ง ฉันชื่นชมผลงานของหม่อมเจ้าหญิงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม สอง งานของหม่อมเจ้าหญิงทำให้ฉันนึกถึงการชีวิตการทำงานที่แรกที่เคยผ่านมา


ฉันรู้จักชีวิตและผลงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นครั้งแรกจากผลงานของคุณเอียด นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ซึ่งฉันเป็นบรรณาธิการให้เมื่อครั้งยังทำงานเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ ในบทความของคุณนิพัทธ์พรชิ้นนั้น เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อผลงานของหม่อมเจ้าหญิง  หลังจากต้องตรวจแก้ต้นฉบับ หาภาพประกอบบทความซึ่งได้แก่ภาพผลงานของหม่อมเจ้าหญิงมาตีพิมพ์ในหนังสือหลายครั้งหลายหน ฉันก็พบว่าตนเองได้แอบนิยมชมชอบงานของพระองค์ไปด้วยแล้ว  วันนี้หน้าที่การงานของฉันเปลี่ยนไป การได้เห็นป้ายนิทรรศการในวันนี้จึงทำให้คิดได้ว่าฉันเคยชอบงานของศิลปินผู้นี้และทำให้ระลึกถึงการทำงานในครั้งนั้นด้วย

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นพระธิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรและหม่อมราชวงศ์พันธ์ทิพย์ บริพัตร(เทวกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ณ วังบางขุนพรหม  หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 ท่านได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และประเทศสเปน  ท่านชื่นชอบงานศิลปะ มีงานของตนเองมากมาย และได้จัดแสดงผลงานในฝรั่งเศสอยู่บ่อยครั้ง  พ.ศ 2513 เสด็จไปพบเมืองเล็กๆ ชื่อ Annot บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Nice เป็นเมืองเล็กๆในหุบเขา ก็ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมืองแห่งนี้และตัดสินพระทัยซื้อที่ดินบนเนินเขานั้นสร้างสตูดิโอและประทับอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน


ภาพวาดของหม่อมเจ้าหญิงในครั้งนี้เดินทางมาไกลจากฝรั่งเศส  ภายในนิทรรศการนอกจากจะจัดแสดงประวัติของหม่อมเจ้ามารศีอย่างละเอียดแล้ว ยังได้นำผลงานภาพวาดชิ้นเยี่ยมของพระองค์มาจัดแสดงด้วย  ความรู้สึกชอบจากการได้เห็นภาพของพระองค์ในหนังสือเปลี่ยนเป็นความชื่นชมอย่างลึกซึ้งจริงใจเมื่อได้มายืนอยู่ต่อหน้าภาพจริงในวันนี้  ภาพวาดของหม่อมเจ้ามารศีเกือบทั้งหมดนั้นเป็นแนวเหนือจริง  มักเป็นภาพคน สัตว์ และกึ่งคนกึ่งสัตว์ เช่นช่วงบนเป็นหญิงสาวสวย ช่วงล่างมีขาเหมือนม้า หรือเหล่ามนุษย์ที่มีหัวเป็นหมา แมว กระต่าย นก ฯลฯ  โดยส่วนใหญ่มักเป็นภาพที่แฝงสัญลักษณ์ของเรื่องลึกลับ ตำนานปรัมปรา และแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย

ภาพของหม่อมเจ้ามารศีมักสะท้อนให้เห็นการเดินทางมาพบกันระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกแห่งความฝัน รวมทั้งความรื่นรมย์แห่งชีวิตและความทุกข์เศร้าของการตายจาก  บางภาพเป็นภาพหญิงสาวตัวแทนแห่งการมีชีวิตเริงรำอยู่กับชายหนุ่มผู้เป็นโครงกระดูก  บางภาพชี้เห็นความงดงามของการมีชีวิต มีดอกกุหลาบโปรยลงมาประดับฉากความรื่นรมย์แต่เบื้องบนภาพนั้น ผู้ที่โปรยกลีบกุหลาบลงมาก็คือเหล่าซาตานทูตแห่งความตาย  เมื่อดูงานของหม่อมเจ้าหญิงทั้งหมดจึงจะเห็นแนวคิดที่บอกว่าทั้งชีวิตและความตายนั้นต่างเป็นส่วนผสมอย่างละครึ่งแห่งจักรวาลนี้ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้


เดินดูงานจนหมดห้อง  รู้สึกทั้งหดหู่และประทับใจ หดหู่ต่อความจริงว่าโลกนี้มิได้มีแต่ด้านสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ขณะเดียวกันก็ประทับใจว่าบางครั้งความหดหู่หม่นหมองก็เป็นความงดงามอย่างหนึ่งที่เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน  เดินดูบางภาพที่ประทับใจอีกรอบด้วยความรู้สึกเต็มตื้น  วันที่หดหู่ได้รับการเติมเต็มจากการได้ดูงานเปี่ยมคุณค่า  และไม่รู้รู้สึกไปเองหรือเปล่าว่าใบหน้าของคนในภาพวาดส่วนใหญ่ละม้ายพระพักตร์ของหม่อมเจ้ามารศี  คงมีส่วน, เพราะศิลปะ ท้ายที่สุดแล้วคงไม่อะไรอื่น นอกจากการเติมเต็มความแหว่งเว้าในใจของเราเอง


Patha V

0 comments:

Post a Comment