Tuesday, January 29, 2013

แอ่วเชียงของ ล่องห้วยทราย






1.

สถานีขนส่งเชียงรายบ่ายวันนั้นแม้จะไม่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่ก็ยังมีรถโดยสารจำนวนมากให้บริการเดินทางระหว่างจังหวัด สอดส่ายสายตาหารถไปต่างอำเภอ สมุดที่ถืออยู่ในมือปรากฏชื่อ “เชียงราย-เทิง-เชียงของ” มีโน้ตย่อเขียนกำกับเอาไว้ว่า “วิ่งเส้นในเมือง ใช้เวลาสองชั่วโมงกว่า” เมื่อมองแล้วมองอีกยังไม่เห็นมา พลันสายตาก็ปะทะกับรถอีก 2 สาย “เชียงราย-พญาเม็งราย-เชียงของ” คันสีส้ม และ “เชียงราย-เวียงเชียงรุ้ง-ห้วยซ้อ-เชียงของ” คันสีเขียว

“คันสีเขียวออกสี่โมง ใช้เส้นนอก ใช้เวลาเดินทางสามชั่วโมงกว่า ส่วนคันสีส้มออกสี่โมงครึ่ง แต่วิ่งเส้นใน ไม่น่าจะเกินสามชั่วโมง” เพื่อนสาวผู้ร่วมทางแจกแจงข้อมูลโดยละเอียด มองดูนาฬิกา อีก 10 นาที จะสี่โมงเย็น หันไปมองคันสีส้มทางซ้ายยังไม่มีผู้โดยสาร จึงแอบแลไปทางคันสีเขียวด้านขวา พี่กระเป๋ารถที่ยืนจ้องอยู่แล้วส่งสายตาเชิญชวนมาให้พร้อมประโยค "ขึ้นเลยน้องขึ้นเลย"

ด้วยไม่อยากถึงที่พักแบบฉิวเฉียดเที่ยงคืนเหมือนซินเดอเรลล่า เราจึงไม่รอช้ากระโดดขึ้นรถสีเขียว ไม่หวั่นแม้ว่าจะวิ่งอ้อมและทำให้ช้าไปบ้าง

16.00 น. ล้อหมุนตรงเวลา มองป้ายข้างรถแล้วกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ในใจ

จุดหมายปลายทางของเราวันนี้อยู่ที่ “เชียงของ”



2.

รถสาย “เชียงราย-เวียงเชียงรุ้ง-ห้วยซ้อ-เชียงของ” พาคณะผู้ร่วมทางเบี่ยงจากถนนสายหลักสู่ถนนนอกเมืองที่เต็มไปด้วยนาข้าวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา หลังจากผ่านปลายฝนต้นหนาว-ฤดูกาลที่ข้าวตั้งท้อง ช่วงเปลี่ยนผ่านปีเช่นเดือนธันวาคมเช่นนี้ก็ถึงเวลาที่ข้าวจะสุกงอมพอให้เก็บเกี่ยว ทิวทัศน์สองข้างทางที่เราเห็นจึงเป็นทุ่งรวงทองตัดกับท้องฟ้าสีคราม เป็นทิวทัศน์งดงามที่ประทับอยู่ในใจยากจะลืมเลือน




3.
“เชียงของ” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เมื่อเทียบกับอำเภออื่นๆ ในเชียงรายแล้วต้องถือว่าเป็นอำเภอขนาดใหญ่พอสมควร ภูมิประเทศของเชียงของเป็นพื้นที่ราบสลับกับเทือกเขา นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ โดยเฉพาะชาวลาวและชาวไทยภูเขาเช่นไทลื้อ มูเซอ ม้ง ฯลฯ เนื่องด้วยการเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศลาว ทำให้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนถ่ายสินค้าระหว่างไทย-ลาวสัญจรบนถนนให้เห็นอยู่ตลอด นอกจากรถบรรทุกที่ถ่ายโอนแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั้งสองฝั่งแล้ว ผู้คนจากไทยและลาวก็ยังข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันเสมอ “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นลาว” ของสองฟากฝั่งไม่ได้แยกห่างออกจากกันอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับที่ความเป็นบ้านพี่เมืองน้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริงและเป็นจริงที่เมืองชายแดนเช่นนี้

เชียงของไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว-หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต “ความเป็นเชียงของ”ที่เรามองเห็น จึงหมายถึงการเป็นเมืองชายแดนขนาดใหญ่เมืองหนึ่ง ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างธรรมดา ไม่เรียบง่ายถึงขนาดปฏิเสธผลพวงที่ตามมาจากระบบทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้เจริญถึงขั้นกลายเป็นเมืองใหญ่ที่วุ่นวายและแออัด

เราจะไม่พบร้านกาแฟสุดเก๋ที่มีเสื้อยืดสกรีนคำว่า “เชียงของ” หรือโปสการ์ดที่เต็มไปด้วยคำว่า “เชียงของ” ที่นี่ จะไม่มีมุมถ่ายรูปยอดฮิต โรงแรมและเกสต์เฮ้าส์มีให้เห็นอยู่มาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเหมือนเมืองอีกหลายเมืองในช่วงไฮซีซั่น แต่สภาพความเป็นเมืองเหนือที่ผู้คนน่ารัก ใจดี มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ วัดวาอารามให้เข้าไปค้นหาความเป็นล้านนา และทัศนียภาพที่สวยงาม ก็เป็นรูปแบบความงามอีกแบบที่น่าเข้าไปสัมผัส




4.

เราใช้เวลาเดินเล่นในตัวเมืองเชียงของอยู่ค่อนวัน โดยเฉพาะในเขตบ้านหัวเวียงซึ่งถือได้ว่าเป็นเขตที่ผู้คนต่างถิ่นนิยมมาพักอาศัยมากที่สุด เดินดูร้านรวง เดินผ่านร้านอาหาร ได้ชิมอาหารท้องถิ่นหลายอย่าง เช่น“ข้าวซอยน้ำหน้า” ที่พี่สาวคนขายแนะนำว่าเป็นอาหารเฉพาะของอำเภอเชียงของ ได้ชื่นชมวัดวาอาราม ทั้งวัดหลวง วัดแก้ว วัดศรีดอนชัย และอีกหลายๆแห่ง หรือกระทั่งได้มีโอกาสสังเกตเห็นป้ายบอกถนนในเมืองนี้ที่มีรูปปั้นปลาบึกตัวเล็กๆ ติดอยู่ที่ด้านข้างของป้าย

แน่นอนว่าต้องเป็นปลาบึก เพราะปลาบึกเป็นปลาขึ้นชื่อของที่นี่ ไม่เพียงแต่เป็นอาหารอันโอชะในมื้อพิเศษ ปลาบึกยังเป็นปลาที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง คู่ลำน้ำโขงริมเชียงของมาเนิ่นนาน จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไปเสียแล้ว สำหรับเมืองเชียงของ นอกจากเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นเดือนแห่งงานมหาสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่-มีกล้วยอบเนยจากบ้านศรีลานนา ผ้าทอจากบ้านศรีดอนชัย หรือหัตถกรรมบ้านสถานมาให้ผู้คนได้เลือกสรรกันแล้ว ยังเป็นช่วงเดือนที่ชาวเชียงของจะทำพิธีบวงสรวงและล่าปลาบึก เพื่อสืบต่อพิธีกรรมอันยึดโยงชาวเชียงของไว้ด้วยกันนี้ด้วย

หลังจากชมเมืองเชียงของ เราเดินทางไปยังท่าเรือบั๊ค เพื่อข้ามฝั่งไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การข้ามฟากไปยังอีกฝังง่ายดายราวนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา เพียง 30 บาท เราก็ได้เข้าไปนั่งในเรือรับจ้างลำใดลำหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายริมสองฝั่งแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงที่คั่นกลางระหว่างเชียงของ-ห้วยทรายเป็นแม่น้ำโขงที่ไม่กว้างนัก ในเวลาไม่ถึง 2 นาทีเราจึงข้ามไปถึงดินแดนลาวได้โดยสวัสดิภาพ






ด้วยสภาพของเมืองชายแดน, ห้วยทรายก็ไม่ต่างจากเชียงของ ตลาดที่นี่เต็มไปด้วยสินค้าที่ไหลทะลักมาจากเมืองไทย ที่มีมากไม่แพ้กันคือของจากเมืองจีน ทั้งของใช้ เสื้อผ้า อาหารและขนมขบเคี้ยว รถรับจ้างจากเมืองลาวพาเราตระเวนรอบๆ แขวงบ่อทราย ตลาดอินโดจีนหรือที่คนลาวเรียกว่า “ตลาดจีน” เป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวจากต่างแดนต้องมาแวะ ตลาดที่นี่คือหลักฐานชั้นเยี่ยมที่ยืนยันให้เห็นว่าชาวจีนและสินค้าจีนเดินทางหลั่งไหลเข้ามาในเมืองเล็กๆ แห่งนี้มากเพียงใด จากนั้นเราเดินทางไปตลาดลาว แม้จะไม่ใหญ่เท่าตลาดจีน แต่คึกคักและมีชีวิตชีวากว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นตลาด “ของจริง” ที่เป็นศูนย์รวมสินค้าอุปโภคบริโภคของชาวลาว ผักสด เนื้อหมูเนื้อไก่ ขนมขบเคี้ยว รวมทั้งเสื้อผ้าและเครื่องใช้อื่นๆ หาได้ทั้งหมดที่นี่ แม้แต่ศูนย์ให้บริการ 3G ก็ยังอยู่ในบริเวณตลาด

หลังจากทัวร์ตลาดและเดินลัดเลาะไปตามบ้านเรือนในเมืองห้วยทราย เราเดินเที่ยววัดในเขตลาวเท่าที่สองเท้าจะพาก้าวเดินไปได้ เมืองลาวเป็นเมืองที่วัดมากไม่ต่างจากเมืองไทย แต่วัดของลาวเท่าที่สังเกตได้จะไม่เน้นความวิจิตรบรรจง การตกแต่งอันวิจิตรพิสดารเท่าวัดไทย หากแต่จะเน้นใช้สีสันจัดจ้านของโบสถ์วิหาร พระพุทธรูป และจิตรกรรมฝาผนังเป็นสื่อกลางเพื่อส่งสารแก่พุทธศาสนิกชนและเหล่าผู้มาเยือน

เราเดินชมบ้านเมืองจนเย็นย่ำ ห้าโมงกว่าๆ จึงข้ามฝั่งกลับไปยังไทยเนื่องจากนายด่านเตือนเมื่อครั้งข้ามเข้ามาว่าด่านจะปิดเวลาหกโมงตรง ด่านตรวจคนเข้าเมืองยามเย็นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เสียงพูดคุยหยอกล้อและหัวเราะร่าของพวกเขา ทั้งพวกที่ข้ามมาจากไทย และพวกที่กำลังจะกลับไปยังฝั่งไทย ทำให้เราอดปลื้มใจไม่ได้ว่าประเทศของเราและประเทศเพื่อนบ้านยังมีสิ่งดีๆ ที่ทำให้คนต่างถิ่นมาสัมผัสและมีความสุข





5.

เช้าวันที่สามที่เชียงของ เราตื่นในเวลาที่เร็วเกินกว่าจะเรียกว่าเช้า

ตีสี่ครึ่งสำหรับคนทั่วไปอาจจะยังเช้าสำหรับเริ่มต้นวันใหม่ แต่สำหรับตลาดเช้าหรือ “กาดเช้า” ใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงของ เวลาตีสีครึ่งถึงตีห้านั้นก็ถือว่า “สาย” เสียแล้ว

“เอารังผึ้งไหม นี่เหลือชิ้นสุดท้าย เดี๋ยวตลาดจะวายแล้ว” พ่อค้าขายขนมรังผึ้งร้องบอกเราในเวลาตีห้า

ใช่, ตีห้าคือเวลาใกล้ตลาดวาย สืบความมาได้ว่าตลาดเช้าที่นี่เปิดขายตั้งแต่เวลาตีสามถึงหกโมงเช้า ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะออกมาจับจ่ายสินค้ากันตั้งแต่เวลาตีสามถึงตีสี่ ทั้งวัตถุดิบเช่นผักและเนื้อ ทั้งอาหารปรุงเสร็จทั้งอาหารคาวอาหารหวาน ทั้งหมดหาซื้อได้ที่นี่ แม้กระทั่งลอตเตอรี่ซึ่งนิยมขายกันอยู่หลายเจ้า กาดเช้าแห่งเชียงของจึงเป็นหนึ่งในตลาดเช้าที่คึกคักมากที่สุดเท่าที่เราจะได้พบ

ฟ้าเริ่มสางหลังจากเราเดินออกมาจากตลาด ถนนหนทางในเชียงของยังว่างโล่ง เราเดินเล่นกันกลางถนนประหนึ่งเป็นถนนคนเดินอย่างแท้จริง เดินลัดเลาะถนนไปจนถึงริมแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงยามเข้าสวยราวภาพวาด อากาศเย็น หมอกลงจางๆ พอให้รู้สึกถึงการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล แม่น้ำทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แต่เข้านี้ที่นี่ไม่ได้มีเพียงเรา หากยังมีชาวบ้านผู้ใช้พื้นที่ริมน้ำเป็นแปลงเกษตรขนาดย่อม ปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิดอีกด้วย

เราไม่รอช้า เดินเข้าไปใกล้คุณลุงคนหนึ่งผู้ดัดแปลงพื้นที่ริมโขงเป็นพื้นที่ปลูกถั่วงอก มองดูเขาลำเลียงถังทรายมาไว้ริมโขงถังแล้วถังเล่า เมื่อแอบชะโงกดู ภายในถังแต่ละถังเต็มไปด้วยถั่วงอกผลิยอดแตกใบขาวอวบน่ากิน

“ปลูกเอาไว้ประมาณห้าวันก็เอาไปร่อนทรายออก ปลูกเอาไปขายที่กาดเช้านั่นแหละ ผักที่ขายที่นั่นก็ปลูกกันแถวนี้ทั้งนั้น” คุณลุงบอกพร้อมสาธิตวิธีร่อนทรายออกจากถังปลูกถั่วงอกให้เราได้ชม

สำหรับเมืองธรรมดาเช่นเชียงของ อาชีพเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน โดยเฉพาะการปลูกผักสวนครัวริมลำโขงเช่นที่เห็นนี้ เราจึงเห็นว่าเมืองเล็กแห่งนี้ไม่เคยขาดแคลนพืชผักสดใหม่ไว้ใช้ปรุงอาหารเลย

ยืนมองพระอาทิตย์ขึ้นริมน้ำอยู่พักใหญ่ เราก็ได้พบคุณแม่ยังสาวชาวญี่ปุ่นพาลูกชายเล็กทั้งสองมาสูดอากาศยามเช้าริมโขง ได้สนทนากันเล็กน้อยจึงพบว่าเธอเป็นชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้หลายปีแล้ว ช่วงนี้มีเวลาว่างจึงได้พา “ยูตะคุง” และ “เซตะคุง” หนุ่มน้อยตัวจิ๋วมาเที่ยวเมืองชายแดนแห่งนี้  ด้วยความที่อยู่เมืองไทยมานาน เธอจึงพูดภาษาไทยได้คล่อง เราจึงมีโอกาสได้ต่อบทสนทนากับเธออีกเล็กน้อยก่อนแยกทาง

เราเอ่ยลากันในยามที่แสงอาทิตย์ฉาบทาทั่วท้องฟ้า นอกจากคุณแม่ยังสาวผู้นี้ เชียงของยังเต็มไปด้วยนักเดินทางชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาชื่นชมความงามของธรรมชาติอีกหลายต่อหลายคน  เกือบทั้งหมดเดินทางมาแบบแบ็กแพ็ค แต่งตัวทะมัดทะแมง สะพายเป้ซึ่งใหญ่กว่าที่ไหล่และแผ่นหลังน่าจะแบกรับได้ สงบเสงี่ยมและดูมีรสนิยมวิไล

ใช่, นักท่องเที่ยวที่เมืองนี้โดยส่วนใหญ่มาฐานะนักเดินทางผู้เพลินทาง มิใช่นักท่องเที่ยวผู้มาตามกระแสความนิยมเท่านั้น




6.

เราบอกลาเชียงของด้วยเส้นทางสาย “เชียงของ-พญาเม็งราย-เชียงราย” เส้นทางสายใหม่ที่เป็นป่าเขาและเต็มไปด้วยทางคดเคี้ยวมากกว่าขามา แต่ความรู้สึกเมื่อยามได้เปิดหน้าต่างให้กว้างสุดกว้าง มองออกไปให้ไกลสุดลูกหูลูกตานั้นก็ทำให้หัวใจพองโตได้ไม่ต่าง ความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของเมืองทำให้ใครก็ตามที่เดินทางมาสัมผัส หลวมตัวหลงรักเมืองนี้ได้ไม่ยาก

หากจะเปรียบไปแล้ว เสน่ห์ของเชียงของก็เหมือนเสน่ห์ของหญิงสาวผู้น่ารักและมีชีวิตชีวา มากกว่าหญิงสาวผู้สวยสะพรั่ง เป็นความสวยที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ต้องใช้ดวงตาที่สามเพื่อมองให้เห็นความพิเศษที่ซ่อนอยู่ในความธรรมดา และหากจะว่ากันตามจริงแล้ว ความสวยที่ไม่น่าเบื่อเช่นนี้ก็น่าอยู่ใกล้ๆ เพื่อค้นหามากกว่าความสวยที่ประจักษ์ชัดเมื่อแรกสบตาเป็นไหนๆ


0 comments:

Post a Comment