Tuesday, May 28, 2013

ดอกไม้นอกสวน : “การเดินทางและเวลา นำมาซึ่งผู้คนในความทรงจำ”










หน้า ๓๓
“มาเรียที่รักของผม ความฝันทำให้เราอยู่ได้ มันทำให้หัวใจของผมเต้นเร้าอย่างมีความสุขเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่ฝัน แต่มันไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราต้องจมอยู่กับความฝันดอกนะ ตรงข้ามเสียอีก สำหรับผม มันเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่ทำให้มีความสุข คุณและลูกๆ ความฝันของผม และฟลาเมงโก”


หน้า ๔๒
“แปลงดอกไม้ของฉันเติบโต ในที่สุดต้องขยับขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไป  อ้อ... ฉันไม่มีลูกสาวคอยช่วยเหลือ ไม่ต้องพูดถึงคนสวนดอกนะ เพราะค่าจ้างแพง  ลูกชายของฉันทั้งสองคนและสามีของฉันต่างหาก พวกเขาเป็นกำลังสำคัญทั้งรดน้ำ พรวนดิน ลงกล้า ตัดแต่งกิ่ง

วันแรกที่พวกเขาลงแปลงปลูกต้นไม้ดอกไม้ เป็นภาพสวยงามที่สุด งดงามกว่าความรู้สึกเมื่อตอนได้ยินข่าวกำแพงเบอร์ลินพังแล้ว สหภาพโซเวียตล่มสลาย

วันนั้นฉันร้องไห้ และยืนอยู่ตรงธรณีประตู เป็นความรู้สึกต่างจากการร้องไห้ในวันที่พวกเขาเดินออกไปจากประตูเดียวกันนี้เพื่อไปทำสงคราม”


หน้า ๔๓
“สามีของฉันเคยพูดว่า บางทีเขาก็คิดเหมือนกัน ว่ามันเป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี ที่เอาดอกไม้ไปวางไว้บนหลุมศพ เพราะคนตายไม่ได้เห็น ไม่ได้กลิ่น แต่ก็อีกนั่นแหละ ดอกไม้บนหลุมศพทำให้ความตายไม่แข็งกระด้าง ไม่โหดร้ายเกินไปสำหรับสามีหรือภริยาหรือลูกหลานของผู้เสียชีวิต”


หน้า ๖๔
“ความจริงเมื่อมาทำเกสต์เฮ้าส์ เราสัมผัสความตื่นเต้น อันเกิดจากการพบและการลาจากมากกว่าตอนออกเดินทางด้วยตัวเองเสียอีก คุณคิดว่าเราเฉยชินกับความรู้สึกลาจากน่ะหรือ เปล่าเลย จริงอยู่มันอาจไม่พิเศษเหมือนกันทุกคน แต่ผมอยากบอกว่า ความรู้สึกดีๆกับใครบางคนที่เดินเข้ามาในประตูบานนั้นและจากออกไปภายนอกกรอบประตูบานเดียวกัน มันเหมือนกับการได้อ่านหนังสือดีๆเล่มหนึ่งเลยทีเดียว และคุณย่อมคิดถึงหนังสือเล่มนั้นอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง"


หน้า ๖๕
“เราสองคนได้เป็นพยานรักของหนุ่มสาวนักเดินทางไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่ แครอลบอกว่า เกสต์เฮ้าส์ของเราเป็นมากกว่าที่พักแรมทาง บางทีเป็นโบสถ์ให้คนได้มาสารภาพความในใจ และเป็นรวงรังที่ความรักของคนสองคนฟูมฟักและเติบโต พร้อมกันนั้นสำหรับบางคน มันอาจเป็นเวทีการแสดงที่คนหลายคนและหลายคู่ เมื่อลงไปแล้วก็ห่างหายไปไม่มีการติดต่อกันอีกเลย ขณะที่บางคนกลับขึ้นเวทีการแสดงแห่งนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง...”


หน้า ๘๔
“คนหนุ่มสาวจะไปรู้จักความเหงาหรือว้าเหว่ได้อย่างไร และถ้าพวกเขาเรียกการอยู่คนเดียวโดยไม่มีคู่ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรว่าเป็นความเหงาแล้วละก็ ฉันว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากกว่า รออีกห้าสิบปีเถอะ ความเหงาจริงๆกำลังรออยู่...

สำหรับคนหนุ่มสาวอย่างพวกเธอ วันรุ่งขึ้นหมายถึงคนรักใกล้กลับมาสู่อ้อมกอดแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนชุดใหม่สักที ได้เวลาออกไปพบหรือไปเที่ยวกับเพื่อนพ้องหน้าใหม่

แต่สำหรับคนแก่ วันรุ่งขึ้นมันหมายถึง... คนรุ่นเดียวกัน เพื่อนหรือคนที่เรารู้จักคุ้นเคย ลดจำนวนเหลือน้อยลงทุกวัน พวกเขาจากไป ไม่ใช่แค่ชั่วโมงหนึ่ง วัน สัปดาห์ ปี หรือยี่สิบปี แต่เป็นการจากอย่างถาวร ไม่รู้ว่าจะพบกันอีกไหม และส่วนใหญ่ไม่มีวันได้พบกันอีก”


หน้า ๙๕
“ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่ แต่รู้ว่า อายุมากแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ฉันพยายามบอกคนที่มองและแสดงความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจผ่านใบหน้าและแววตาเวลาที่พวกเขามองมา มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาหรอก แต่คนแก่ไม่ได้เศร้าโศกทุกคน ไม่ว่าคนนั้นแวดล้อมอยู่ด้วยคนรู้จัก คนใกล้ชิด หรืออยู่ตัวคนเดียวในบ้านพักคนชรา

ฉันสุขกับชีวิตที่มีอยู่ แน่ล่ะยังคิดถึงวัยหนุ่มสาวบ่อยๆ และยิ้มให้วันเวลาพวกนั้น แต่ไม่เคยอิจฉาคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ผู้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่เคยแม้อยากกลับไปใช้ชีวิตในวัยนั้นอีก ฉันเชื่อว่า แต่ละช่วงชีวิตมีความสวยงามของมันอยู่ สั้นบ้างยาวบ้าง อย่างเช่น คนในวัยของเธอ ย่อมมีความสุขในแบบที่คนในวัยหนุ่มสาวยังไม่สัมผัส และคนแก่ชราได้แต่ระลึกถึง”


หน้า ๑๑๓
“ผมไม่รู้หรอกว่าการเดินทางคืออะไร แต่การเดินทางไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งอะไรเลย การค้นหาจิตวิญญาณนั้น อยู่ในถ้ำบรรลุถึงธรรมง่ายกว่า

การเดินทางไปไหนมาไหนของพวกเรา คือไปหาเพื่อน ไปเยี่ยมญาติ ไปเรียนหนังสือ ไปงานในพิธีศาสนา ร่วมแสดงความยินดีกับคนแต่งงาน ไปร่วมแสดงความเสียใจในงานศพ เราไม่เดินทางไปไหนไกลๆ เพื่อไปเล่นน้ำทะเล ไปอาบแดด หรือไปหาความสุข ก็อย่างที่บอกไง ทุกอย่างอยู่กับเราที่นี่หมดแล้ว”


จบเล่ม
ดอกไม้นอกสวน ของภาณุ มณีวัฒนกุล
ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางเช่นบันทึกการเดินทางเล่มอื่นๆ
แต่เล่าแทนเสียงของผู้คนที่ผู้เขียนได้ผ่านพบขณะเดินทาง
บางคนคือแม่ บางคนคือเมีย บางคนคือลูกสาว
แต่อีกมากก็คือคนเป็นพ่อ คนหนุ่ม สามี และลูกชาย
ภาณุต้องการบอกเราว่า คนทุกคนต่างเป็นดอกไม้
เพียงแต่มีลักษณะรูปทรงแตกต่างกันออกไปตามเหตุและปัจจัยต่างๆ
และการอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างหลากหลายนี้ก็ทำให้สวนที่ชื่อว่าโลกงดงาม 

จบเล่มแล้ว เราได้ข้อสรุปให้ตัวเองว่า
การเดินทางนั้นมิใช่การเดินทางทางกายภาพเพียงอย่างเดียว
แต่ยังรวมถึงการเดินทางภายในจิตใจของเราเอง
การเดินทางไปในความคิดคำนึงอันไม่มีที่สิ้นสุด
การเดินทางไปตามตัวเลขอายุที่เพิ่มมากขึ้นวันแล้ววันเล่า
หรือแม้แต่การออกจากบ้านไปหาเพื่อน ไปเยี่ยมญาติ ไปเรียนหนังสือ
เราก็เรียกมันว่าการเดินทางแล้ว
ตราบใดที่เรายังได้อะไรบางอย่างกลับมาจากการก้าวออกไปครั้งนี้


Patha V

0 comments:

Post a Comment